Monday, April 22, 2024

ลั้ลลากับงาน... ลาป่วย ลากิจ ลาคลอด ลาบลาๆ รู้ไว้ใช่ว่า ใส่ใจเผื่อไว้ดีกว่า!

สวัสดีครับทุกท่าน ต่อเนื่องจากเรื่อง “วันหยุด” ในครั้งที่แล้ว มาวันนี้ผมมาเล่าให้ฟังเกี่ยวกับ “วันลา” สำหรับลูกจ้าง ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ 

ตามกฎหมายฉบับนี้ ลูกจ้างทุกคนมีสิทธิ์ลาได้ 6 ประเภท  แต่ละประเภทมีกฎเกณฑ์และระยะเวลาที่แตกต่างกัน  มาดูกันว่ามีอะไรบ้างเลย

1) ลาป่วย

ลูกจ้างสามารถขอลาได้ตามเท่าที่ป่วยจริง โดยอาจต้องแสดงใบรับรองแพทย์เป็นหลักฐานหากนายจ้างต้องการดู โดยลูกจ้างจะได้รับค่าจ้างระหว่างลาป่วยไม่เกิน 30 วันต่อปี (เว้นแต่กรณีเจ็บป่วยจากการทำงาน)

2) ลาเพื่อทำหมัน

ลานี้ใช้กับการลาไปทำหมันตัวเองเท่านั้น โดยลูกจ้างสามารถลาและได้รับค่าจ้างเต็มระหว่างวันลา ซึ่งจำนวนวันลานั้นจะขึ้นอยู่กับความเห็นของแพทย์ครับ

3) ลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็น

กฎหมายให้สิทธิลูกจ้างลา เพื่อไปปฏิบัติกิจธุระอันจำเป็น รวมๆ กันปีละ 3 วันแบบได้รับค่าจ้าง การกำหนดว่าอะไรคือกิจธุระอันจำเป็น ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของผู้ลาและผู้อนุมัติ กฎหมายไม่ได้ระบุหรือให้ตัวอย่างไว้

4) ลาเพื่อรับราชการทหาร

น่าจะเป็นวันลาที่ทั้งลูกจ้างและนายจ้างไม่ปรารถนาเลย แม้ว่ากฎหมายจะสนับสนุนให้ลูกจ้างได้รับค่าจ้างโดยไม่ต้องไปทำงานกว่าปีละ 60 วันก็ตาม เพราะในมุมของลูกจ้างการกลับไปฝึกหรือเตรียมความพร้อมทางทหารมันไม่สนุกเลย ทางฝั่งนายจ้างก็เสียโอกาสใช้งานลูกจ้างไปแบบไม่ฟรีอีกด้วย

5) ลาเพื่อการฝึกอบรมหรือพัฒนาความรู้ความสามารถ

รายการนี้เป็นรายการที่แปลกจากเพื่อน กฎหมายบอกว่ามี แต่ไม่ได้กำหนดว่านายจ้างจะต้องให้สิทธิลาได้ปีละกี่วันเหมือนวันลารายการอื่นๆ แต่ไม่ต้องห่วงนะครับ... ในทางปฏิบัติก็ลาได้แหละ ถ้าลูกจ้างได้รับการพัฒนาความรู้ความสามารถที่เป็นประโยชน์ต่อองค์กรจริงๆ นายจ้างจะได้ประโยชน์ด้วย วินวินทั้งสองฝ่าย แบบนี้นายจ้างก็มักจะอนุญาตให้ลา แถมหลายรายยังใจดีออกค่าใช้จ่ายให้ลูกจ้างอีก ทั้งค่าฝึกอบรม ค่าเดินทาง ค่ากินอยู่ด้วย

6) ลาเพื่อคลอดบุตร

ให้สิทธิลูกจ้างหญิงมีลาไปตรวจครรภ์และคลอดได้รวม 98 วัน ช่วงลาคลอดจะนับรวมวันหยุด โดยลูกจ้างจะได้รับค่าจ้างระหว่างลา 45 วัน (อีก 45 วัน ไปขอรับการสนับสนุนจากสำนักงานประกันสังคมได้)

 

หากนายจ้างจะให้สิทธิลูกจ้างลามากกว่าที่กฎหมายกำหนดที่ว่ามา ถือว่าเป็นคุณแก่ลูกจ้าง (ลูกจ้างได้ประโยชน์) ก็ทำได้ 

นายจ้างไม่มีสิทธิ์ห้ามลาโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร แต่ลูกจ้างก็พึงลาเท่าที่จำเป็น ปฏิบัติตามระเบียบของบริษัท โปรดวางแผนการลาล่วงหน้า เพื่อไม่ให้กระทบต่อการทำงานของท่านและเพื่อนร่วมงาน เว้นแต่เจ็บป่วยแบบไม่คาดคิด เช่น มีไข้สูง ติดเชื้อโควิด ท้องเสีย เกิดอุบัติเหตุ แบบนั้นคงรู้ล่วงหน้าไม่ได้ก็รีบแจ้งลาให้นายจ้างทราบเร็วที่สุดแล้วกันนะ

เสริมอีกนิดว่า การใช้วันลา ควรใช้ให้ตรงตามประเภทของวันลา เช่น ไปทำหมันจะขอลาป่วยไม่ได้ เพราะการทำหมันไม่ใช้การป่วย ให้ใช้ลาทำหมัน แต่ถ้าพาแมวที่บ้านไปทำหมันก็ต้องเป็นลากิจ เพราะไม่ได้ทำหมันตัวเอง พากิ๊กออกเดตใช้ลากิจไม่ได้ เพราะไม่ใช่ธุระอันจำเป็น เป็นต้น  ใครใช้วันลาไม่ตรงประเภท พึงระวังตัวไว้ เพราะหากนายจ้างรู้เข้า จะเข้าข่ายแจ้งเท็จ อาจโดนเรียกสอบ โดนภาคทัณฑ์ ที่สำคัญนะ... เมียที่บ้านมารู้ทีหลังอาจต้องลาป่วยเพิ่มเติมด้วย อิอิ

 

ขอให้ทุกท่านรักษาสุขภาพ ออกกำลังกาย ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ พักผ่อนให้เพียงพอ จะได้มีสุขภาพเข็งแรงใช้ชีวิตอย่างมีความสุขครับ


ด้วยความปรารถนาดี

ตาหนุ่ม

Wednesday, April 17, 2024

นึกออกมั้ยลูกจ้างจะหยุดจะลาได้ปีละกี่วัน ?

 กลับมาจากหยุดสงกรานต์ยาวๆ กันแล้ว ทุกท่านคงสบายดีกันนะครับ

 

ทำงานกินเงินเดือนมาตั้งนาน นึกออกมั้ยลูกจ้างจะหยุดจะลาได้ปีละกี่วัน ? ถูกถามแบบไม่ทันได้ตั้งตัวแบบนี้ หลายคนอาจนึกได้แค่วันลาพักร้อน วันลากิจ กับวันลาป่วย เพราะเป็นมาตรฐานที่จะต้องมีอยู่ และใช้บ่อยกว่าลาอื่นๆ แต่จริงๆ แล้ว มันมีมากกว่านี้ อยากรู้ก็ตามอ่านกันได้เลย

 

ก่อนอื่นต้องแถลง (อ่านว่า “ถะ-แหลง” ไม่ใช่ “แถง-ลง” นะฮะ) แจ้งก่อนว่ากฎหมายแรงงานที่เกี่ยวข้องกับวันหยุดวันลาต่างๆ ของลูกจ้าง ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน คือ พรบ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑  ซึ่งถ้าดูที่ ปี พ.ศ. ที่ราชการออกประกาศใช้ ก็ผ่านมายี่สิบกว่าปีแล้ว อาจจะดูเก่าในสายตาหลายๆ คน (ก่อนวัยรุ่นหลายๆ คนเกิดอีก) แต่ที่จริงแล้วเนื้อหาต่างๆ เนี่ย เขามีประกาศกฎกระทรวงต่างๆ ขึ้นมาปรับปรุงเพิ่มเติมให้ดีขึ้นเป็นระยะๆ ครับ

 


กฎหมายฉบับนี้ ระบุไว้ว่า วันหยุดของลูกจ้าง มีแค่ 3 แบบ คือ

 

1) วันหยุดประจำสัปดาห์ ที่นายจ้างจะต้องให้หยุดอย่างน้อยหนึ่งวันในสัปดาห์การทำงาน

2) วันหยุดตามประเพณี ที่นายจ้างต้องให้ลูกจ้างหยุดทำงาน อย่างน้อยปีละ 13 วัน เผื่อว่าลูกจ้างจะไปร่วมงานตามประเพณีที่สำคัญๆ ในท้องถิ่นนั้น โดยนายจ้างต้องกำหนดและประกาศวันหยุดประเภทนี้ล่วงหน้าในแต่ละปีด้วย เพื่อให้ลูกจ้างสามารถวางแผนชีวิตตัวเองได้ ซึ่งผลการสำรวจพบว่าว่าบริษัทต่างๆ ในประเทศไทย จะกำหนดวันหยุดตามประเพณีนี้ 13  - 20 วันต่อปี  วันสงกรานต์ นับเป็นหนึ่งในวันหยุดตามประเพณียอดนิยมที่สุดในไทย บริษัทและโรงงานโดยมากจะให้ลูกจ้างหยุดงานเพื่อกลับไปเยี่ยมบ้านกันช่วงนี้แหละ  

3) วันหยุดพักผ่อนประจำปี หรือที่คุ้นปากคุ้นหูกันว่า “วันหยุดพักร้อน” กฎหมายระบุชัดเจนว่า ถ้าลูกจ้างทำงานติดต่อกันมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี นายจ้างจะต้องให้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี อย่างน้อยปีละ 6 วัน หากนายจ้างจะให้มากกว่านั้น ดีกว่านั้น ก็เป็นเรื่องที่ดีสามารถทำได้ เช่น ให้ลาหยุดได้ปีละ 10 วัน หรือให้สิทธิหยุดได้แม้จะทำงานไม่ครบปี เป็นต้น

ในวันหยุดพักผ่อนประจำปีนี้ ผู้ใช้สิทธิหยุด ไม่จะเป็นต้องไปเที่ยวพักผ่อนตามอัธยาศัย เสมอไป ท่านจะนอนผึ่งพุงอยู่กับบ้านเฉยๆ หรือพาภรรยาไปทำบุญตามวัด หรือแม้กระทั่งไปสมัครงานที่ใหม่ก็ได้ ไม่จำกัดนะครับ วัตถุประสงค์ของวันหยุดนี้ กฎหมายเพียงแค่อยากให้ลูกจ้างพักผ่อนกายและใจบ้าง จะได้มีพลังกลับมาทำงานใหม่แบบเต็มหลอด  เรื่องนี้ฝาหรั่งอั้งม้อเขาทำวิจัยออกมาหลายครั้งแล้ว ได้ผลในทางเดียวกันว่าพนักงานที่ใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี กลับมาทำงานมีประสิทธิภาพดีกว่าพนักงานที่ไม่ได้หยุด

 


สรุปสั้นๆ นะครับ ลูกจ้างขอลาหยุดได้ตามสิทธิวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่นายจ้างให้ แต่ถ้าเราจะขอใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีมาคอมโบรวมกับวันหยุดตามประเพณีเพื่อให้ได้วันหยุดต่อเนื่องยาวๆ เช่น หยุดก่อนวันหยุดสงกรานต์สัก 3 วัน เพื่อออกเดินทางก่อน หรือหยุดต่อเนื่องหลังเทศกาลสงกรานต์อีก 3 วัน เพื่อเลี่ยงรถติดในขากลับ หรือซุปเปอร์คอมโบหยุดพักผ่อนประจำปีหน้า+หลังสงกรานต์เลยก็ได้นะ กฎหมายไม่ห้าม ขอเพียงแค่ลูกจ้างกะนายจ้างตกลงกันได้ก็พอ

 

พวกลากิจ ลาป่วย ลาต่างๆ นอกจากวันหยุดสามประเภทที่กล่าวมาข้างต้น ถือเป็น "วันลา" ทั้งสิ้น เรื่องนี้จะหลากหลายกว่าวันหยุด ขอผัดผ่อนไปเล่าอีกตอนแล้วกัน 

ขอให้ทุกท่านที่กลับจากพักผ่อนมา มีพลังพร้อมเริ่มทำงานอย่างสดชื่นนะครับ


ตาหนุ่ม

#วันหยุด #วันลา #กฎหมายแรงงาน #ลูกจ้าง #นายจ้าง

โครงสร้างเงินเดือน มีไว้ใช้ ดีอย่างไร

ส วัสดี ครับทุกท่าน เพื่อนผมคนหนึ่งเจอกันในงานเลี้ยง ถามผมว่า โครงสร้างเงินเดือนที่ทำกันอยู่มันดียังงัยทำมัย HR ถึงมาของบให้ทำ มันจำเป็นมาก...