บริษัทหลายๆ แห่ง มีระเบียบประกาศชัดเจนว่า เรื่องเงินเดือนหรืออัตราเงินเดือนของพนักงานแต่ละคน
ถือเป็นความลับส่วนบุคคล ไม่พึงเปิดเผย เจ้าหน้าที่บุคคลรุ่นใหม่คนหนึ่งจึงเกิดความสงสัยว่าทำไมมันต้องเป็นความลับด้วย
ทั้งๆ ที่เรื่องจริงพนักงานก็รู้เงินเดือนของเพื่อนๆ ในบริษัทกันเยอะแยะ หันไปถามลูกพี่ที่ทำงานก็ไม่ได้คำตอบที่ชัดเจน
เลยเก็บความสงสัยมาถามผมแทน
อันที่จริงแล้วเรื่อง
“รู้อัตราเงินเดือนของเพื่อนร่วมงาน” นี้ ก็มีกันแทบทุกบริษัทครับ ไม่ต้องกังวลหรือคิดมากไปว่าเป็นเฉพาะบริษัทตัวเองหรือเปล่า
ผมมักจะบอกให้ลูกศิษย์ฟังอยู่เสมอว่าเรื่องอัตราเงินเดือนนี้เป็นเรื่องที่.. “ลับในที่แจ้ง
และแจ้งในที่ลับ” กันทั้งนั้น
“ลับในที่แจ้ง” หมายถึง เรื่องอัตราเงินเดือนถือเป็นความลับในพื้นที่ที่ไม่ได้ปกปิด (ที่แจ้ง) พื้นที่ทั่วไปในองค์กรที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้นั่นเอง
“แจ้งในที่ลับ” หมายถึง เรื่องอัตราเงินเดือน
เป็นสิ่งที่เขาแจ้งหรือบอกกล่าวกันในที่ลับ หรือพื้นที่ส่วนตัว เช่น ห้องน้ำ
ห้องแต่งตัว เป็นต้น ด้วยความมีน้ำใจแบบไทยๆ ก็แบ่งปันข้อมูลข่าวสารกัน
ใครเงินเดือนเท่าไหร่ก็บอกกันไป เพื่อนในกลุ่มเดียวกันก็เลยรู้กันด้วย ดังนั้นเรื่องอัตราเงินเดือนของพนักงานจึงไม่เป็นความลับเสมอไป
แล้วทำไม “เงินเดือน” ถึงต้องเป็นความลับด้วย
?
คำตอบเรื่องนี้
เป็นเรื่องที่เกี่ยวกันกับเรื่องจิตวิทยา ซึ่งผมไม่อยากกล่าวถึงหลักทฤษฎีให้ปวดหัวคนอ่าน
(รวมทั้งตัวเองด้วย ฮา....) เชื่อไหมครับ มนุษย์ปุถุชนเราส่วนใหญ่มีสัญชาตญาณอย่างหนึ่งที่คล้ายๆ
กัน นั่นคือ ชอบเทียบเคียงและเอาชนะ เคยสังเกตกันไหมครับว่าเวลาเรามักจะใช้เวลาส่วนหนึ่งในช่วงเช้า
ส่องกระจกดูตัวเอง แบบส่องแล้วส่องอีก ตรวจสอบตัวเองดูว่าเสื้อผ้า-หน้า-ผม
ดูดีแล้วหรือยังโดยเทียบเคียงกับมาตรฐานความงามหรือความหล่อที่มีอยู่ในใจ บางคนยิ่งไปกว่านั้น
ถ้าไปออกงานสังคมพลาดไม่ได้เชียว จะต้องให้ดูดี เด่น เลิศกว่าคนอื่นด้วย
นอกจากนี้แล้วเรายังมีนักกีฬาคนโปรดหรือทีมกีฬาทีมโปรดในใจ ถ้าคนหรือทีมที่เราเชียร์ชนะคู่แข่งได้
เราจะมีความสุข สิ่งเหล่านี้คือพฤติกรรมอันชัดเจนของสัญชาตญาณการเทียบเคียงและเอาชนะ
สัญชาตญาณเหล่านี้มีผลต่อเรื่องเงินเดือนก็เช่นกัน
พนักงานหลายคนมักจะเทียบเคียงอัตราเงินเดือนตัวเองกับเพื่อนเสมอ
ทั้งเพื่อนที่ทำงานอยู่ในองค์กรเดียวกันและทำงานที่อื่น แต่ปัญหาที่มักจะเกิดขึ้นก็คือ
เมื่อเทียบเคียงอัตราเงินเดือนกับเพื่อนแล้วบางครั้งเกิดความไม่พอใจ
เพราะมองว่าตัวเราเองขยันทำงานกว่าเพื่อน หรือบางครั้งก็มองว่าตัวเองรับผิดชอบงานมากกว่าเพื่อน
เงินเดือนตัวเองจึงควรสูงกว่าเพื่อน เมื่อผลออกมาไม่ตรงใจก็ไม่สบายใจ น้อยใจหัวหน้าบ้าง
จนเป็นทุกข์ บางคนก็พาลเคืองเพื่อนร่วมงานที่ได้เงินเดือนมากกว่าตัวเอง บางคนโดนเพื่อนนิสัยไม่ดีที่อัตราเงินเดือนสูงกว่าอวดข่มซ้ำเติมอีก
จนบางครั้งนำไปสู่ความขัดแย้งและการทะเลาะกัน ผู้บริหารยุคก่อนๆ
จึงหาวิธีการแก้ปัญหาแบบป้องปรามด้วยการถือว่าเรื่องอัตราเงินเดือนของแต่ละคนเป็นความลับ
หากผู้ใดแพร่งพราย
หรือก่อปัญหาจากเหตุอัตราเงินเดือนเพื่อนร่วมงานก็ให้ถือว่ามีความผิดทางวินัย บริษัทมีสิทธิให้ออกจากงานด้วย
“เงินเดือนเป็นความลับ” จึงช่วยทุเลาปัญหาการทะเลาะเบาะแว้งกันจากสาเหตุอัตราเงินเดือนที่ไม่เท่ากันลงได้
องค์กรส่วนใหญ่จึงนิยมมีให้ “เงินเดือนเป็นความลับ” ด้วยประการฉะนี้
อย่างไรก็ตาม “เงินเดือนเป็นความลับ” ไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ
เพราะพนักงานก็ยังคงไม่เข้าใจอยู่ดีว่าทำไมเงินเดือนตัวเองถึงน้อยกว่าเพื่อนทั้งๆ
ที่ทำงานเหมือนๆ กัน
ต้นเหตุที่แท้จริงอยู่ที่ความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้
หากผู้บริหารระดับสูง เข้าใจเรื่อง “หลักการบริหารค่าจ้าง” อย่างถูกต้อง ตลอดจนให้ความสำคัญในเรื่องนี้
แล้วทำให้เป็นระบบ มีโครงสร้างเงินเดือนที่มีหลักการและเหตุผลสนับสนุนที่ชัดเจน
สามารถอธิบายให้พนักงานเข้าใจได้ ปัญหาก็ไม่เกิดครับ
สุมน จักษ์เมธา
No comments:
Post a Comment