Wednesday, April 17, 2024

นึกออกมั้ยลูกจ้างจะหยุดจะลาได้ปีละกี่วัน ?

 กลับมาจากหยุดสงกรานต์ยาวๆ กันแล้ว ทุกท่านคงสบายดีกันนะครับ

 

ทำงานกินเงินเดือนมาตั้งนาน นึกออกมั้ยลูกจ้างจะหยุดจะลาได้ปีละกี่วัน ? ถูกถามแบบไม่ทันได้ตั้งตัวแบบนี้ หลายคนอาจนึกได้แค่วันลาพักร้อน วันลากิจ กับวันลาป่วย เพราะเป็นมาตรฐานที่จะต้องมีอยู่ และใช้บ่อยกว่าลาอื่นๆ แต่จริงๆ แล้ว มันมีมากกว่านี้ อยากรู้ก็ตามอ่านกันได้เลย

 

ก่อนอื่นต้องแถลง (อ่านว่า “ถะ-แหลง” ไม่ใช่ “แถง-ลง” นะฮะ) แจ้งก่อนว่ากฎหมายแรงงานที่เกี่ยวข้องกับวันหยุดวันลาต่างๆ ของลูกจ้าง ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน คือ พรบ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑  ซึ่งถ้าดูที่ ปี พ.ศ. ที่ราชการออกประกาศใช้ ก็ผ่านมายี่สิบกว่าปีแล้ว อาจจะดูเก่าในสายตาหลายๆ คน (ก่อนวัยรุ่นหลายๆ คนเกิดอีก) แต่ที่จริงแล้วเนื้อหาต่างๆ เนี่ย เขามีประกาศกฎกระทรวงต่างๆ ขึ้นมาปรับปรุงเพิ่มเติมให้ดีขึ้นเป็นระยะๆ ครับ

 


กฎหมายฉบับนี้ ระบุไว้ว่า วันหยุดของลูกจ้าง มีแค่ 3 แบบ คือ

 

1) วันหยุดประจำสัปดาห์ ที่นายจ้างจะต้องให้หยุดอย่างน้อยหนึ่งวันในสัปดาห์การทำงาน

2) วันหยุดตามประเพณี ที่นายจ้างต้องให้ลูกจ้างหยุดทำงาน อย่างน้อยปีละ 13 วัน เผื่อว่าลูกจ้างจะไปร่วมงานตามประเพณีที่สำคัญๆ ในท้องถิ่นนั้น โดยนายจ้างต้องกำหนดและประกาศวันหยุดประเภทนี้ล่วงหน้าในแต่ละปีด้วย เพื่อให้ลูกจ้างสามารถวางแผนชีวิตตัวเองได้ ซึ่งผลการสำรวจพบว่าว่าบริษัทต่างๆ ในประเทศไทย จะกำหนดวันหยุดตามประเพณีนี้ 13  - 20 วันต่อปี  วันสงกรานต์ นับเป็นหนึ่งในวันหยุดตามประเพณียอดนิยมที่สุดในไทย บริษัทและโรงงานโดยมากจะให้ลูกจ้างหยุดงานเพื่อกลับไปเยี่ยมบ้านกันช่วงนี้แหละ  

3) วันหยุดพักผ่อนประจำปี หรือที่คุ้นปากคุ้นหูกันว่า “วันหยุดพักร้อน” กฎหมายระบุชัดเจนว่า ถ้าลูกจ้างทำงานติดต่อกันมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี นายจ้างจะต้องให้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี อย่างน้อยปีละ 6 วัน หากนายจ้างจะให้มากกว่านั้น ดีกว่านั้น ก็เป็นเรื่องที่ดีสามารถทำได้ เช่น ให้ลาหยุดได้ปีละ 10 วัน หรือให้สิทธิหยุดได้แม้จะทำงานไม่ครบปี เป็นต้น

ในวันหยุดพักผ่อนประจำปีนี้ ผู้ใช้สิทธิหยุด ไม่จะเป็นต้องไปเที่ยวพักผ่อนตามอัธยาศัย เสมอไป ท่านจะนอนผึ่งพุงอยู่กับบ้านเฉยๆ หรือพาภรรยาไปทำบุญตามวัด หรือแม้กระทั่งไปสมัครงานที่ใหม่ก็ได้ ไม่จำกัดนะครับ วัตถุประสงค์ของวันหยุดนี้ กฎหมายเพียงแค่อยากให้ลูกจ้างพักผ่อนกายและใจบ้าง จะได้มีพลังกลับมาทำงานใหม่แบบเต็มหลอด  เรื่องนี้ฝาหรั่งอั้งม้อเขาทำวิจัยออกมาหลายครั้งแล้ว ได้ผลในทางเดียวกันว่าพนักงานที่ใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี กลับมาทำงานมีประสิทธิภาพดีกว่าพนักงานที่ไม่ได้หยุด

 


สรุปสั้นๆ นะครับ ลูกจ้างขอลาหยุดได้ตามสิทธิวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่นายจ้างให้ แต่ถ้าเราจะขอใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีมาคอมโบรวมกับวันหยุดตามประเพณีเพื่อให้ได้วันหยุดต่อเนื่องยาวๆ เช่น หยุดก่อนวันหยุดสงกรานต์สัก 3 วัน เพื่อออกเดินทางก่อน หรือหยุดต่อเนื่องหลังเทศกาลสงกรานต์อีก 3 วัน เพื่อเลี่ยงรถติดในขากลับ หรือซุปเปอร์คอมโบหยุดพักผ่อนประจำปีหน้า+หลังสงกรานต์เลยก็ได้นะ กฎหมายไม่ห้าม ขอเพียงแค่ลูกจ้างกะนายจ้างตกลงกันได้ก็พอ

 

พวกลากิจ ลาป่วย ลาต่างๆ นอกจากวันหยุดสามประเภทที่กล่าวมาข้างต้น ถือเป็น "วันลา" ทั้งสิ้น เรื่องนี้จะหลากหลายกว่าวันหยุด ขอผัดผ่อนไปเล่าอีกตอนแล้วกัน 

ขอให้ทุกท่านที่กลับจากพักผ่อนมา มีพลังพร้อมเริ่มทำงานอย่างสดชื่นนะครับ


ตาหนุ่ม

#วันหยุด #วันลา #กฎหมายแรงงาน #ลูกจ้าง #นายจ้าง

No comments:

Post a Comment

โครงสร้างเงินเดือน มีไว้ใช้ ดีอย่างไร

ส วัสดี ครับทุกท่าน เพื่อนผมคนหนึ่งเจอกันในงานเลี้ยง ถามผมว่า โครงสร้างเงินเดือนที่ทำกันอยู่มันดียังงัยทำมัย HR ถึงมาของบให้ทำ มันจำเป็นมาก...